กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้ “สาขาสถาปัตยกรรมหลัก” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังอาคารเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพของอาคาร ส่วนประกอบอาคาร และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับอาคาร “สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว “สาขาภูมิสถาปัตยกรรม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังบริเวณเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพของสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ในชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอาคาร “สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ข้อ ๒ วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ได้แก่ วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขา ดังต่อไปนี้ (๑) สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ในงานตามข้อ ๓ ยกเว้นการออกแบบวางผังอาคารที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลพื้นที่รวมกันไม่เกิน ๑๕๐ ตารางเมตร หรืออาคารเพื่อการเกษตรพื้นที่ไม่เกิน ๔๐๐ ตารางเมตร (๒) สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ในงานตามข้อ ๓ ที่เกี่ยวกับการวางผังสำหรับพื้นที่หรือกลุ่มอาคาร ดังต่อไปนี้ (ก) พื้นที่ที่มีการใช้บังคับผังเมืองรวมและจัดทำผังเมืองเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง (ข) พื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ (ค) พื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน (ง) พื้นที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (จ) พื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติและอุบัติภัยตามที่กฎหมายกำหนด (ฉ) นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด (ช) กลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง และอาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป (๓) สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ในงานตามข้อ ๓ สำหรับพื้นที่หรือบริเวณ ดังต่อไปนี้ (ก) พื้นที่สาธารณะ หรือบริเวณอาคารสาธารณะ (ข) พื้นที่ที่ให้บุคคลทั่วไปเข้าไปใช้สอยได้ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ ๕๐๐ คนขึ้นไป (ค) พื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ยกเว้นพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่พักอาศัยส่วนบุคคล (๔) สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ในงานตามข้อ ๓ สำหรับพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป ข้อ ๓ งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขา มีดังต่อไปนี้ (๑) งานศึกษาโครงการ หมายถึง การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การกำหนดความต้องการและข้อจำกัดเป็นโครงการย่อ การจัดทำสาระความต้องการสำหรับการออกแบบโครงร่างของโครงการ การจัดทำแผนงาน และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (๒) งานออกแบบ หมายถึง การกำหนดรายละเอียดโครงการ การกำหนดแนวความคิดในการออกแบบและวางผัง การพัฒนารูปแบบ การจัดทำแบบและเอกสารการก่อสร้าง การกำหนดรูปแบบและรายการวัสดุก่อสร้าง การประมาณราคาค่าก่อสร้าง และการตรวจสอบรูปแบบระหว่างการก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมทั้งที่ก่อสร้างใหม่ ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย บูรณะ ฟื้นฟู หรืออนุรักษ์ (๓) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง หมายถึง การบริหารจัดการและจัดทำแผนการบริหารโครงการ การกำหนดหลักเกณฑ์โครงการ การคำนวณราคาและควบคุมค่าก่อสร้าง การควบคุมการก่อสร้างดัดแปลง ซ่อมแซม รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือสิ่งก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบรายการและสัญญา การวินิจฉัยแผนงานและวิธีการก่อสร้าง การรับรองผลการทดสอบวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการ และให้หมายความรวมถึงการวางแผนการดำเนินงาน การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินอาคารในงานสถาปัตยกรรมทั้งที่ก่อสร้างใหม่ ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย บูรณะ ฟื้นฟูหรืออนุรักษ์ (๔) งานตรวจสอบ หมายถึง การสำรวจ การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ รวมทั้งการหาข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบรูปแบบ อุปกรณ์ประกอบของอาคาร ระบบสุขอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยในอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง งานตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยในอาคารในด้านสถาปัตยกรรมควบคุม รวมทั้งงานระบบอาคารที่เกี่ยวข้อง และการออกเอกสารรับรองผลการตรวจสอบ (๕) งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อเสนอแนะหรือการตรวจสอบเพื่อให้คำปรึกษาในงานตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ข้อ ๔ ให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม หรือสาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์อยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม หรือสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ตามกฎกระทรวงนี้ตามลำดับ ข้อ ๕ ผู้ใดประกอบการงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามสาขาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายในสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้ผู้นั้นประกอบการงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตจากสภาสถาปนิก หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้อง ออกกฎกระทรวงนี้ งาน ประเภท และขนาด ที่ต้องมีสถาปนิกที่ได้รับใบอนุญาต แต่ละสาขาเป็นผู้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตตรา 4 |
Categories
All
|