ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. ๒๕๕๑อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๖) (ฉ) และมาตรา ๔๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญสภาวิศวกร และโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้งาน ประเภท และขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๔ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับวุฒิวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ทุกงาน ทุกประเภท และทุกขนาด ข้อ ๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้เฉพาะงานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ หรืองานอำนวยการใช้ ทุกประเภทและทุกขนาด ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้เฉพาะงาน ประเภทและขนาดดังนี้ (๑) งานออกแบบและคำนวณ (ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๔ ชั้น หรือโครงสร้างของอาคารที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงไม่เกิน ๕ เมตร หรืออาคารที่มีช่วงคานยาวทุกขนาด (ข) คลังสินค้า ไซโล ห้องเย็น หรือยุ้งฉางที่มีความจุไม่เกิน ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร (ค) โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง หรือศาสนวัตถุ เช่น พระพุทธรูป หรือเจดีย์ ที่มีความสูงไม่เกิน ๑๕ เมตร (ง) นั่งร้านหรือค้ำยันชั่วคราวที่มีความสูงไม่เกิน ๒๕ เมตร (จ) แบบหล่อคอนกรีตสำหรับเสาที่มีความสูงไม่เกิน ๕ เมตร หรือคานที่มีช่วงคานยาวทุกขนาด (ฉ) โครงสร้างใต้ดิน สิ่งก่อสร้างชั่วคราว กำแพงกันดิน คันดินป้องกันน้ำ หรือคลองส่งน้ำที่มีความสูงหรือความลึกไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร (ช) เขื่อน ฝาย อุโมงค์ ท่อระบายน้ำ หรือระบบชลประทานที่มีความสูงไม่เกิน ๒.๕๐ เมตร หรือมีความจุไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือที่มีอัตราการไหลของน้ำไม่เกิน ๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ซ) โครงสร้างที่มีการกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมัน อุโมงค์ส่งน้ำ หรือสระว่ายน้ำที่มีความจุไม่เกิน ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร (ฌ) ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร หรือพื้นที่หน้าตัดไม่เกิน ๒.๐๐ ตารางเมตร และมีโครงสร้างรองรับ (ญ) ระบบชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทานไม่เกิน ๕,๐๐๐ ไร่ต่อโครงการ (๒) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต (ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๘ ชั้น (ข) อาคารสาธารณะที่มีความสูงไม่เกิน ๘ ชั้น (ค) คลังสินค้า ไซโล ห้องเย็น หรือยุ้งฉางทุกขนาด (ง) โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง ที่มีความสูงไม่เกิน ๔๐ เมตร หรือศาสนวัตถุ เช่น พระพุทธรูป หรือเจดีย์ ที่มีความสูงไม่เกิน ๒๓ เมตร (จ) โครงสร้างสะพานที่มีช่วงระหว่างศูนย์กลางตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวไม่เกิน ๑๒ เมตร (ฉ) ชิ้นส่วนโครงสร้างคอนกรีตหล่อสำเร็จหรือคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จรูปทุกชนิดที่มีความยาวทุกขนาด (ช) เสาเข็มคอนกรีตทุกขนาด (ซ) นั่งร้านหรือค้ำยันชั่วคราวที่มีความสูงไม่เกิน ๔๒ เมตร (ฌ) โครงสร้างใต้ดิน สิ่งก่อสร้างชั่วคราว กำแพงกันดิน คันดินป้องกันน้ำ หรือคลองส่งน้ำที่มีความสูงหรือความลึกไม่เกิน ๒.๕ เมตร (ญ) ทางสาธารณะทุกขนาด (ฎ) เขื่อน ฝาย อุโมงค์ ท่อระบายน้ำ หรือระบบชลประทาน ทุกขนาด (ฏ) โครงสร้างที่มีการกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมัน อุโมงค์ส่งน้ำ หรือสระว่ายน้ำทุกขนาด (ฐ) ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำทุกขนาด และมีโครงสร้างรองรับ (ฑ) ระบบชลประทานทุกขนาด (ฒ) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย มีความสูงจากพื้นดินไม่เกิน ๒๓ เมตร หรือป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกิน ๕๐ ตารางเมตร ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา ดาดฟ้า หรือกันสาด หรือที่ติดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร (ณ) อัฒจันทร์ที่มีพื้นที่ไม่เกิน ๑,๕๐๐ ตารางเมตร (ด) โครงสร้างสำหรับใช้ในการรับส่งหรือติดตั้งอุปกรณ์รับส่งวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มีความสูงจากระดับฐานของโครงสร้างไม่เกิน ๕๐ เมตร (๓) งานพิจารณาตรวจสอบ หรืองานอำนวยการใช้ ทุกประเภทและทุกขนาด ข้อ ๗ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ตามงาน ประเภทและขนาดที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ข้อ ๘ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา ตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการสภาวิศวกรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาวิศวกรให้เป็นที่สุด ข้อ ๙ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามประเภท และสาขาที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ภายในข้อกำหนดและเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ๒๕๐๕ อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้นั้นประกอบการงานนั้นต่อไปได้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ |
Categories
All
|